ประเพณีการแต่งกายของชาวปัตตานี
กลุ่มของชาวบ้านทั่วไป ทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม มีความนิยมเหมือนกัน คือ การนุ่งผ้าถุงหรือโสร่ง ผู้ชายนุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ เสื้อก็สวมเสื้อที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ลักษณะการแต่งกายของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี คล้ายกับการแต่งกายของชาวมาเลเซีย และชาวอินโดนีเซีย แต่ก็ไม่เหมือนสองชาติดังกล่าวทีเดียว อาจจะได้รับอิทธิพลบ้างโดยสืบเนื่องมาจากทำเลที่ตั้งมีการติดต่อไปมาค้าขาย แต่เดิมการแต่งกายของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี มีทั้งระดับในราชสำนักลงมาถึงระดับชาวบ้าน ส่วนมากเป็นการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับโอกาสต่างๆ แต่คงลักษณะเด่นบางอย่างไว้ นั่นคือ ต้องมิดชิด การแต่งกายของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานีตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ การแต่งกายบางแบบก็เลิกใช้แล้ว อย่างเช่น ชุดกระโจมอก เป็นการแต่งกายของหญิงมุสลิมในอดีต และเลิกใช้มาประมาณ 80-100 ปีแล้ว การแต่งกายแบบนี้สมัยก่อนเป็นที่นิยมทั่วไปสำหรับสวมอยู่ในบ้าน หรือออกงานนอกบ้านก็ได้ ประกอบด้วยผ้า 3 ชิ้น ชิ้นแรกเป็นผ้าโสร่งปาเต๊ะ หรืออาจใช้ผ้าสตือรอ (ผ้าไหม) ก็ได้ ลักษณะเป็นถุงนุ่งยาวกรอมเท้า ชิ้นที่สองเป็นผ้ากระโจมอก มักใช้ผ้าแอแจ๊ะ (เป็นผ้าไหมลายต่างๆ เช่น ลายคดกริชยาวตามแนวนอนหรือลายมัดหมี่) ผ้าที่ใช้กระโจมอกนี้ยาวประมาณ 40-90 นิ้ว และกว้างประมาณ 30-36 นิ้ว วิธีการกระโจมอกซึ่งเป็นจุดสำคัญของการแต่งกายชุดนี้ คือ ให้ชายผ้าทั้งสองข้างห้อยอยู่ตรงกลาง ผ้าคลุมศรีษะซึ่งมักใช้ผ้าป่านมีดอกดวงสวยงาม หรือผ้าปะลางิง (ผ้าแพรชนิดหนึ่ง ) วิธีคลุมก็อาจคลุมโดยปล่อยชายทั้งสองไว้ข้างหน้าหรือจะตลบชายข้างใดข้างหนึ่งให้พาดโอบไปข้างหลังก็ได้ หญิงไทยมุสลิมที่แต่งกายแบบนี้มักนิยมเกล้าผมมวยแบบโบราณ และชายไทยมุสลิมแต่งกายด้วยชุดปูฌอปอตองปัจจุบันไม่นิยมแล้ว ประกอบด้วยเสื้อยือคอกลมสีขาวผ่าหน้า ยาวพอสวมทางศรีษะได้ติดกระดุม 3 เม็ด แขนสั้น ส่วนผ้าที่นุ่งมีลักษณะเหมือนผ้าขาวม้าทำด้วยไหมสีสันค่อนข้างฉูดฉาดไม่เย็บเป็นถุงใช้นุ่งทับบนเสื้อ วิธีนุ่งต้องใช้ชาวทั้งสองข้างห้อยอยู่ตรงกลางเป็นมุมแหลม มีผ้าบือแฆ เป็นผ้าจากเมืองจีนคล้ายแพรดอกในตัวหรือไหม เป็นผ้าที่มีขนาดเล็กกว่านุ่งทับบนผ้าปูฌอปอตองอีกขั้นหนึ่ง เสร็จแล้วเหน็บกริช หรือหอก การแต่งกายแบบนี้นิยมใช้สตาแง โพกศรีษะ การแต่งกายของผู้หญิงไทยมุสลิมตามประเพณีดั้งเดิม ที่ยังคงความนิยมในปัจจุบันสำหรับผู้หญิงทุกวัยคือ ชุดกุรง ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมติดคอ ผ่าหน้าพอสวมศรีษะได้ติดกระดุมคอ 1 เม็ด หรือเข็มกลัด 1 ตัว แขนกระบอกยาวเกือบจรดข้อมือหรือต่ำกว่าข้อศอก ใต้รักแร้ระหว่างตัวเสื้อและแขนต่อด้วยผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตัวเสื้อหลวมยาวคลุมสะโพก เสื้อกุรงมักสวมเป็นชุดกับผ้าปาเต๊ะ และหากไปงานหรูหราก็อาจนุ่งผ้ายกเงินยกทองที่เรียกว่า ผ้าซอแก๊ะ การแต่งกายแบบนี้มีผ้าคลุมศรีษะหรือผ้าคลุมไหล่ หรือใช้ผ้าโปร่งที่ปักเลื่อมงดงามซึ่งมีขนาดเล็กกว่าผ้าป่านคลุมศรีษะโดยทั่วไป สมัยก่อนหญิงที่แต่งกายแบบนี้มักจะเกล้าผมมวยหรือถักเปีย การแต่งกายของหญิงในท้องถิ่นนี้อีกแบบหนึ่ง คือ เสื้อบายอ ลักษณะเป็นเสื้อคอวี ผ่าหน้าตลอด กลัดด้วยเข็มกลัด ซึ่งส่วนใหญ่นิยมกลัด 3 ตัว แต่ละตัวมีสายโซ่ต่อกัน แขนเสื้อยาวปลายกว้างเล็กน้อย ตัวเสื้อค่อนข้างหลวมยามคลุมสะโพก ชายเสื้อตรงหรืออาจแหลมเล็กน้อย เสื้อบายอนี้ใช้กับผ้าถุงธรรมดา ปัจจุบันเสื้อบายอเป็นที่นิยมเฉพาะหญิงมุสลิมสูงวัยเท่านั้นและมักคลุมศรีษะเช่นเดียวกับการแต่งกายชุดกุรง สำหรับหญิงที่เป็นหะยีหรือฮัจยะห์ นิยมคลุมศรีาะ 2 ผืนๆ หนึ่งเป็นผ้าสีขาวบางๆมีลวดลายเล็กๆ หรือไม่มี เรียกว่า มือดูวาเราะห์ เป็นผ้าที่นำเข้ามาจากซาอุดิอารเบีย ใช้สำหรับปิดผมให้มิดชิดและอีกผืนหนึ่งเป็นผ้าป่านสำหรับคลุมตามประเพณีท้องถิ่น ต่อมาการแต่งกายของหญิงไทยมุสลิมได้วิวัฒนาการมาอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นที่นิยมในหมู่หญิงสาว ลักษณะคล้ายเสื้อบายอแต่เน้นรูปทรงมากกว่า เสื้อแบบนี้ เรียกว่า บานง เป็นเสื้อแขนยาวรัดรูปจรดข้อมือ เสื้อบานง ใช้นุ่งกับผ้าถุงธรรมดาหรือผ้าซอแกะหรือผ้าพัน ที่ท้องถิ่นเรียกว่า “กาเฮงบือเละ” ผ้าพันเป็นผ้าลวดลายปาเต๊ะยาวประมาณ 3 เมตร ไม่เย็บเป็นถุง วิธีนุ่งผ้าพันนั้นไม่ง่ายนัก ต้องมีเทคนิคเฉพาะเพื่อให้ก้าวขาเดินได้สะดวก ชายผ้าด้านนอกอาจจีบทบแบบจีบหน้านาง หรือม้วน หรืออาจปล่อยให้สุดปลายผ้าไว้เฉยๆ โดยเหน็บชายผ้าตรงกลางสะเอวและนิยมให้ปลายผ้าด้านล่างทแยงเล็กน้อย ต่อมาเริ่มประยุกต์เสื้อบานงเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเป็นเสื้อคอวีลึกปิดทับด้วยลิ้นผ้าสามเหลี่ยม เสื้อแบบนี้เรียกว่า “บานงแมแด” เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย ผ้าที่นิยมใช้ตัดเสื้อแบบนี้ คือผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าต่วน และผ้าชีฟอง เสื้อบานงแมแดอาจจะนุ่งกับผ้าถุงธรรมดา ผ้าถุงสำเร็จ ผ้าพัน หรือผ้าประโปรงยาวบานก็ได้ สำหรับการแต่งกายของชายในท้องถิ่นนั้นแต่เดิมนิยมสวมเสื้อ “ตือโละ บลางอ” ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมอาจมีคอตั้งแบบคอจีนหรือไม่มีก็ได้ ผ่าหน้าครึ่งหนึ่ง ติดกระดุมโลหะ 3 เม็ด สมัยก่อนใช้กระดุมทองคำ แขนเสื้อทรงกระบอกกว้าง ยาวจดข้อมือ แต่พับชายขึ้นมาเล็กน้อย เสื้อตือโละบลางอได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซีย นิยมนุ่งกับผ้าปาลิกัต ซึ่งเป็นผ้าจากประเทศอินเดีย ปัจจุบันนี้เสื้อตือโละบลางอบางแบบอาจใช้สวมกับกางเกงขายาวแบบสากล แต่ยังคงสวมหมวก “ซอเก๊าะ” ซึ่งเป็นหมวกทรงกลม ทำด้วนยผ้าปักดิ้นแวววาวหรือปักด้วยด้ายธรรมดา หรือถักด้วยโครเชต์ทั้งใบ การแต่งกายของชาวไทยมุสลิมโดยทั่วไปในปัจจุบันได้ประยุกต์การแต่งกายแบบพื้นเมืองและแบบสากลเข้าด้วยกัน ในท้องถิ่นตามชนบทชายไทยมุสลิมมักแต่งกายแบบเรียบง่าย ลักษณะเด่นก็คือ นุ่งผ้าปาลิกัตแบบหยักรั้ง ตลบชายสองข้างเข้าด้วยกัน แล้วม้วนชายพกไว้ด้านหน้า สวมเสื้อเชิ้ต หรือเสื้อยืดหรือไม่สวมเสื้อ นอกจากนี้นิยมใช้ผ้าขาวม้าพันศรีษะคาดไว้ที่หน้าผากแล้วโพกโอบรอบไปทางท้ายทอยและพับเหน็บไว้ ส่วนผู้หญิงชาวบ้านยังนิยมนุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อบานงหรือบายอหรือกุรง หรือเสื้อประเภทท่อน ที่ตัดเย็บแบบสากลหรือเสื้อยืด ถ้าอยู่กับบ้านจะไม่ใช้ผ้าคลุมศรีษะ แต่เมื่อออกจากบ้านจึงจะคลุมศรีษะ ปัจจุบันชาวไทยมุสลิมได้เดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ลักษณะการแต่งกายของชาไทยมุสลิมในท้องถิ่น ได้รับอิทธิพลจากประเทศดังกล่าวประกอบกับการเผยแผ่ศาสนาของกลุ่มดะวะห์ ทำให้เกิดการแต่งกายเลียนแบบผู้นำดะวะห์อีกแบบหนึ่งด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น